วิสัยทัศน์ด้านยุทธการและการฝึก

การฝึกเป็นการสร้างความพร้อมให้กับกำลังพล เพื่อให้สามารถตอบสนองแนวทางการใช้กำลังพลของกองทัพบก 5 ประการ ได้แก่ การป้องกันประเทศ, การรักษาความมั่นคงภายใน, การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ, การพัฒนาประเทศ และการปฏิบัติภารกิจ ถวายความปลอดภัย และถวายพระเกียรติ ในสภาพภูมิประเทศและสถานการณ์ต่าง ๆ ทางทหารที่ไม่ใช่สงคราม เพื่อเตรียมกำลังพลให้มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งของตน อันจะเป็นผลให้ทุกนายสามารถปฏิบัติภารกิจตามคำสั่ง และแผนการฝึกประจำปี ได้อย่างเต็มขีดความสามารถ ส่งผลเป็นส่วนรวมให้กองทัพบกมีความพร้อมรบ ความต่อเนื่องในการรบและความทันสมัย สามารถเผชิญต่อภัยคุกคามได้ทุกรูปแบบ และเพื่อยกระดับความรู้ ความสามารถและเพิ่มพูนทักษะประสบการณ์ของกำลังพล ให้สามารถใช้งาน ปรนนิบัติบำรุงและรักษายุทโธปกรณ์ ของหน่วยมีอยู่ในปัจจุบัน หรือจำเป็นต้องมีในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีสูง ทั้งความรู้ทางวิชาการทหาร รวมทั้งในสาขาวิชาต่าง ๆ นอกเหนือจากวิชาการทหาร อันจะเป็นผลให้กำลังพลได้รับการพัฒนาทางความคิด และมีความรู้ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง และการนำความรู้ประสบการมาขยายผลภายในหน่วย เพื่อให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น

วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

บทบาทหน้าที่ฝ่ายอำนวยการ

การปฏิบัติหน้าที่ “ฝ่ายอำนวยการ” จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับฝ่ายอำนวยการผู้นั้นสามารถปฏิบัติตาม “หลักการ” หรือนำหลักการมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ดีเพียงใดแล้ว ยังอาจขึ้นอยู่กับ “ประสบการณ์” ในการปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายอำนวยการอีกด้วย และประสบการณ์นี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ต้องสั่งสมมาในชีวิตราชการของแต่ละคน มักไม่มีเขียนไว้ในตำราให้ศึกษาเหมือนหลักการ ผู้เขียนเห็นว่าหากฝ่ายอำนวยการรุ่นก่อน ๆ ได้บันทึกประสบการณ์หรือเทคนิคในการปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายอำนวยการ ไว้ให้ฝ่ายอำนวยการรุ่นหลังได้ศึกษาเป็นแนวทาง ก็อาจจะเป็นผลดีที่จะช่วยทำให้ฝ่ายอำนวยการรุ่นหลัง ไม่ต้องเสียเวลาเริ่มต้นจากศูนย์ในการศึกษางานในหน้าที่นั้น ๆ หรือประสบปัญหาข้อขัดข้องแบบเดียวกับที่เคยมีผู้ประสบมาแล้ว นอกจากนี้หากฝ่ายอำนวยการรุ่นหลังสามารถนำแนวทางหรือข้อคิดบางประการ ไปพัฒนาหรือประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมของหน่วย ก็อาจทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายอำนวยการผู้นั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ถูกต้อง ได้รับการยอมรับทั้งจากผู้บังคับบัญชาและหน่วยรองด้วยความจริงใจ ซึ่งจะช่วยให้ภารกิจของหน่วยบรรลุผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เอกสารประกอบคำบรรยาย เรื่อง “ประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายอำนวยการประสานงาน” ฉบับนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมจากประสบการณ์ในการปฏิบัติราชการที่ผ่านมา นำมาถ่ายทอดเพื่อทราบเป็นแนวทางหนึ่งของฝ่ายอำนวยการคนหนึ่งเท่านั้น หวังว่าเอกสารฉบับนี้คงเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้างตามสมควร

(ลงชื่อ) พันเอก เอนก แสงสุก
(เอนก แสงสุก)
ประจำสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
...........................................................................................................................................................
บทที่ ๑
กล่าวทั่วไป
การถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์
การเรียนรู้เรื่องราวใด ๆ ส่วนใหญ่มักจะเรียนรู้จากเอกสาร ตำรา ที่มีผู้บันทึกไว้ โดยเริ่มเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม อุดมศึกษา และมหาวิทยาลัย ตามลำดับ ในทางทหารได้มีการจัดหลักสูตรต่าง ๆ ไว้อบรมเพื่อพัฒนาความรู้ให้แก่กำลังพลของกองทัพ แต่เรื่อง “ประสบการณ์” มักไม่ค่อยมีการบันทึกไว้ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ต้องเรียนรู้เองจากการปฏิบัติงานจริง ซึ่งบางครั้งทำให้เสียเวลามาก หรือประสบปัญหาข้อขัดข้องเดิม ๆ เหมือนกับที่ผู้ปฏิบัติงานคนก่อน ๆ ได้ประสบมาแล้วแต่ไม่ได้บอกกัน
ผู้เขียนเห็นปัญหาดังกล่าวจึงมีความคิดว่า หากผู้ปฏิบัติงานแต่ละตำแหน่งได้บันทึกประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่นั้น ๆ ไว้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติงานใหม่ในการเรียนรู้งาน ซึ่งจะไม่ต้องเริ่มจากศูนย์หรือประสบปัญหาข้อขัดข้องอย่างเดียวกัน นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาต่อได้อย่างรวดเร็วด้วย จึงได้บันทึกประสบการณ์เหล่านั้นไว้ตลอดมาทั้งงานราชการและงานส่วนตัวในรูปแบบ “คำแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่……” มอบให้หน่วยงานไว้ ๑ เล่ม และสำเนาไว้เป็นส่วนตัว ๑ เล่ม ซึ่งได้มีฝ่ายอำนวยการหลายท่านได้ขอคัดลอกไปใช้ประโยชน์หลายเรื่อง
ประเภทของฝ่ายอำนวยการ
ฝ่ายอำนวยการ แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ฝ่ายอำนวยการประสานงาน เป็นผู้ช่วยหลักของผู้บังคับบัญชา แต่ละคนเกี่ยวข้องกับสายงานที่เกี่ยวข้องอย่างกว้าง ๆ ฝ่ายอำนวยการประสานงานช่วยเหลือผู้บังคับบัญชาโดยการประสานแผน หน้าที่ และการปฏิบัติของส่วนต่าง ๆ ของหน่วย และยังประสานบรรดากิจกรรมทั้งปวงของหน่วย เพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติภารกิจได้ผลดีที่สุดเป็นส่วนรวม
๒. ฝ่ายกิจการพิเศษ ช่วยเหลือผู้บังคับบัญชาสำหรับงานในหน้าที่ที่เป็นวิชาชีพ เทคนิค และงานในหน้าที่อื่น ๆ ซึ่งมีวงแคบกว่าสายงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายอำนวยการประสานงาน และมีความสัมพันธ์อย่างกว้างขวางกับเรื่องทางเทคนิค ธุรการ และเรื่องของเหล่าต่าง ๆ ฝ่ายกิจการพิเศษโดยทั่วไปจัดเป็นแผนกต่าง ๆ แตกต่างกันไปตามวิชาชีพ เทคนิค และงานในหน้าที่พิเศษอื่น ๆ ภายในหน่วย
๓. ฝ่ายอำนวยการประจำตัว ช่วยเหลือผู้บังคับบัญชาในเรื่องส่วนตัวหรืองานในหน้าที่เฉพาะนายทหารฝ่ายอำนวยการประจำตัว คือ นายทหารซึ่งผู้บังคับบัญชาได้เลือกให้ทำหน้าที่ เช่น นายทหารคนสนิท และผู้บังคับบัญชาต้องการประสานและดำเนินงานกิจกรรมของฝ่ายอำนวยการแต่ละคนโดยตรง แทนที่จะให้ผ่านไปยังเสนาธิการ นายทหารฝ่ายอำนวยการประจำตัวเหล่านี้รายงานเรื่องราวต่าง ๆ ตามหน้าที่ของตนไปยังผู้บังคับบัญชาโดยตรง แทนที่จะผ่านไปตามสายฝ่ายอำนวยการปกติภายในหน่วยส่วนมากแล้วนายทหารฝ่ายอำนวยการเหล่านี้ จะแบ่งเวลาระหว่างหน้าที่ฝ่ายอำนวยการประจำตัวของผู้บังคับบัญชา กับหน้าที่ฝ่ายอำนวยการประสานงานหรือฝ่ายกิจการพิเศษ
ลักษณะอันพึงประสงค์ของฝ่ายอำนวยการ
หลักฐาน :
๑. คู่มือวิชายุทธการระดับกรมและกองพันทหารราบ แผนกวิชาอำนวยการ กองการศึกษา รร.ร.ศร.
๒. คู่มือผู้นำทางทหาร แผนกวิชาทั่วไป กองการศึกษา รร.ร.ศร.
๓. คู่มือการปฏิบัติราชการ ว่าด้วยกองร้อยสนับสนุนการรบ พ.ศ. ๒๕๒๖
๔. รส. ๗ - ๒๐ กองพันทหารราบ ทหารราบส่งทางอากาศ และทหารราบยานเกราะ
ลักษณะอันพึงประสงค์ของแผนกฝ่ายอำนวยการ
๑. สามารถทำงานในหน้าที่ได้ทั้งหมด
๒. สามารถปฏิบัติงานได้ตลอด ๒๔ ชม.
๓. อ่อนตัวได้เมื่อประสบงานมาก ๆ
๔. สามารถย้ายเข้าที่ตั้งใหม่โดยการปฏิบัติงานไม่หยุดชะงัก
ลักษณะอันพึงประสงค์ของนายทหารฝ่ายอำนวยการ
๑. ต้องมีความสามารถและสมัครใจที่จะทำหน้าที่นี้
๒. ต้องมีความรอบรู้อย่างถ่องแท้ถึงโครงสร้าง ขีดจำกัด และเทคนิคในการปฏิบัติงานของหน่วยต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นหน่วย และต้องรู้ด้วยว่าหน้าที่ของหน่วยนั้น ๆ มีอย่างไร
๓. นายทหารฝ่ายอำนวยการย่อมมีหน้าที่ แปลความหมายและอธิบายนโยบาย คำสั่ง และคำแนะนำของผู้บังคับบัญชาของตนตามความจำเป็น แต่ต้องไม่ออกคำสั่งใด ๆ ที่เป็นของตนเองทั้งสิ้น
๔. ต้องพยายามยึดถือเอาความประสงค์ของผู้บังคับบัญชา เป็นใหญ่กว่าความคิดเห็นส่วนตัวของตน
๕. ต้องคอยสังเกตดูหน่วยรองในเรื่องการปฏิบัติตามความประสงค์ของผู้บังคับบัญชา และเป็นผู้คอยรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบถึงขอบเขตการปฏิบัติงานที่หน่วยรองต่าง ๆ กำลังดำเนินอยู่
๖. ต้องหลีกเลี่ยงไม่รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบแต่เฉพาะเรื่องที่ตนคิดว่าผู้บังคับบัญชาต้องการทราบเท่านั้น ต้องมีความพยายามอยู่เสมอที่จะรายงานข่าวสารที่สำคัญ ๆ ต่อผู้บังคับบัญชา โดยไม่มีอุปาทานและจุดมุ่งหมายใด ๆ
๗. จะทราบรายละเอียดต่าง ๆ ได้โดยการหมั่นไปเยี่ยมผู้บังคับบัญชาของหน่วยรองต่าง ๆ บ่อย ๆ ต้องทำให้หน่วยรองมีความรู้สึกเชื่อถือในตัวและการปฏิบัติงานของนายทหารฝ่ายอำนวยการ จนเกิดความยินดีที่จะต้อนรับเมื่อฝ่ายอำนวยการไปเยี่ยม
๘. ทำงานกลมกลืนอย่างใกล้ชิดกับนายทหารฝ่ายอำนวยการอื่น ๆ หน่วยเหนือและหน่วยข้างเคียงและหน่วยรองต่าง ๆพยายามที่จะสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือและการประสานงานให้ได้อย่างแท้จริง
การสร้างความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา
หลักฐาน : เอกสารเรื่อง มนุษย์สัมพันธ์ในการปฏิบัติงาน ของ ศูนย์ผลิตรายการและข่าวกองทัพบก พิมพ์แจกเนื่องในวันสถาปนากองทัพบก ๒๔ มิ.ย. ๓๐
๑. เรียนรู้นิสัยของผู้บังคับบัญชา
๒. ทำงานให้ดี หลีกเลี่ยงการประจบสอพลอ
๓. หาทางทำให้ความคิดของผู้บังคับบัญชาบังเกิดผล
๔. ให้ความเคารพยกย่องผู้บังคับบัญชาตามฐานะ
๕. อย่าก่อเรื่องกับเพื่อนร่วมงาน
๖. อย่ารบกวนผู้บังคับบัญชาในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
๗. เข้าหาผู้บังคับบัญชาให้เหมาะสมกับโอกาสและเวลา
๘. อย่านินทานายลับหลัง
๙. แสดงความขอบคุณเมื่อผู้บังคับบัญชาปฏิบัติต่อเรา
๑๐. สรรเสริญคุณความดีของผู้บังคับบัญชาในโอกาสอันควร
๑๑. อย่าบ่นถึงความลำบากต่อหน้าผู้บังคับบัญชา
๑๒. ลองประเมินตัวเองดูบ้าง
เครื่องมือของฝ่ายอำนวยการ
ในทัศนะของผู้เขียน เครื่องมือของฝ่ายอำนวยการ ได้แก่ อุปกรณ์ทั้งสิ้นที่ฝ่ายอำนวยการใช้ในการปฏิบัติงาน เครื่องมือที่ผู้เขียนใช้อยู่ประจำ ได้แก่
- คติเตือนใจ จุดมุ่งหมายส่วนตัวในการทำงานในตำแหน่งปัจจุบัน
- ปากกา ๓ สี ดินสอ สมุดพก สมุดโน้ต สมุดแผนงาน กระดาษโน้ต บัญชีโทรศัพท์ เครื่องเขียนเล็ก ๆ น้อย คอมพิวเตอร์ แผ่นดิสก์ แผ่นซีดี กล้องดิจิตอล เครื่องโทรสาร แฟ้มพลาสติกแยกเรื่อง เครื่องบันทึกเสียง ไม้ชี้ แผนที่ทางหลวง ตารางกำหนดการบิน ตารางเวลารถไฟ – รถโดยสาร นามสงเคราะห์ส่วนราชการ
- เอกสาร/หลักฐานอ้างอิง

บทที่ ๒
งานหลักของฝ่ายอำนวยการ

งานหลัก ๓ ประการ
ฝ่ายอำนวยการมีงานหลัก ๓ ประการ คือ การคิด การเขียน และการพูด ซึ่งในงาน ๓ ประการนี้ ผู้เขียนเห็นว่า “การคิด” เป็นงานที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนและการพูดซึ่งมีวิธีคิดแตกต่างกัน ดังนี้
๑. คิดเพื่อเขียน ได้แก่ การร่างหนังสือ การเขียนรายงาน การเขียนโครงการ ฯลฯ การคิดวิธีนี้ต้องคิดเพื่อเขียนตามวิธีการ หรือหลักการเขียนข้อพิจารณาของฝ่ายอำนวยการ หรือหลักการของการเขียนเอกสารนั้น ๆ
๒. คิดเพื่อพูด ได้แก่ เตรียมพูดเมื่อผู้บังคับบัญชาเรียกพบ การเตรียมการพูดในที่ประชุม การพูดเพื่อประสานงาน ฯลฯ การคิดวิธีนี้ไม่ต้องเขียน หรือเขียนอย่างไม่เป็นทางการนัก อาจใช้วิธีจดโน้ตย่อไว้เตือนความจำ
๓. คิดเพื่อทั้งพูดและเขียน ได้แก่ การบรรยายสรุป การร่างคำกล่าว ฯลฯ การคิดวิธีนี้ต้องต้องมีการบรรยายหรือกล่าวตามร่างที่เขียนไว้ จึงต้องเขียนตามวิธีการหรือหลักการที่กำหนดไว้
งานหลักทั้ง ๓ ประการดังกล่าว จะทำได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับกิจแฝง ๓ ประการ คือ การอ่าน การฟัง และการสรุป
ประสบการณ์ในการคิด
งานการคิดมี ๓ แบบ ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น คือ คิดเพื่อเขียน คิดเพื่อพูด และคิดเพื่อทั้งเขียนและพูด ซึ่งผู้เขียนมีประสบการณ์ในการคิดทั้ง ๓ แบบ ดังนี้
๑. คิดเพื่อเขียน
- ทำใจก่อนคิด คิดในฐานะใคร ทำความรู้สึกสมมุติตัวเองเป็นคน ๆ นั้น แล้วคิดต่อ
- แต่งตั้งตัวเองเป็น ผบ.ทหารสูงสุด เสธ.ทหาร ผบ.หน่วย ผอ.กอง
- ต้องรู้อุปนิสัยของ ผบช. แต่ละท่านที่เราจะสวมบท ร่างหนังสือหรือร่างคำกล่าวในนามท่าน
- อ่านข้อเสนอของหนังสือของหน่วยเหนือก่อน แล้วจึงมาอ่านตอนเริ่มเรื่อง
- วางเค้าโครงเรื่องในใจ
- คิดข้อเสนอในใจ แล้วย้อนกลับไปคิดข้อพิจารณา ข้อเท็จจริง ว่าจะเขียนอย่างไร โน้ตใส่กระดาษ
- ข้อเท็จจริง วาดภาพกว้างก่อน อธิบายภาพเป็นวง ๆ แคบเข้ามา อาศัยข้อกำหนดของหน่วยเหนือ นโยบาย ผบช. ประกอบ
- ข้อพิจารณา พิจารณาให้สอดคล้องกับข้อเสนอที่ตั้งไว้ในใจ
- ข้อเสนอ ต้องให้ครอบคลุมว่าจะให้ ใคร ทำอะไร เมื่อไร ที่ไหน อย่างไร
๒. คิดเพื่อพูด
- วิเคราะห์ภารกิจว่า จะพูดในฐานะอะไรและเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เช่น ในฐานะฝ่ายอำนวยการเพื่อประสานงาน ในฐานะผู้บรรยายพิเศษเพื่อให้ความรู้ ในฐานะผู้บังคับบัญชาเพื่ออบรมหรือชี้แจงผู้ใต้บังคับบัญชา ในฐานะเพื่อนร่วมงานเพื่อขอความร่วมมือ ในฐานะฝ่ายอำนวยการชี้แจงในที่ประชุมเพื่อให้ผู้ร่วมประชุมทราบ หรือในฐานะผู้แทนหน่วยในการประชุมนอกหน่วยเพื่อรับมอบงานหรือชี้แจงปัญหาข้อขัดข้องของหน่วย เป็นต้น
- วิเคราะห์ผู้ฟังซึ่งอาจเป็น ประธานในที่ประชุม ผู้บังคับบัญชา ฝ่ายอำนวยการของหน่วยเหนือหน่วยข้างเคียง ผู้เข้ารับการอบรม ผู้ใต้บังคับบัญชา ฯลฯ ว่า ผู้ฟังมีอุปนิสัยใจคออย่างไร สนใจในเรื่องที่พูดเพียงใด มีความรู้เดิมในเรื่องที่จะพูดมากน้อยเพียงใด มีอิทธิพลต่อการพูดของเราอย่างไร
- คิดเค้าโครงประเด็นหลักและเป้าหมายที่ต้องการได้รับจากผู้ฟัง และที่ต้องการให้ผู้ฟังได้รับ โน้ตย่อไว้
- ศึกษา ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง อนุมัติหลักการ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง โน้ตย่อเพิ่มเติม
- คิดบทสรุปให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการ และเรื่องที่ต้องการเน้น
๓. คิดเพื่อทั้งเขียนและพูด
- วิเคราะห์ภารกิจว่า จะพูดในฐานะอะไรและเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เช่น คิดเพื่อพูดบรรยายสรุปในฐานะฝ่ายอำนวยการในการต้อนรับผู้บังคับบัญชาซึ่งมาตรวจเยี่ยมหน่วย ซึ่งจะต้องจัดทำเอกสารประกอบการบรรยายสรุปแจกจ่ายคณะตรวจเยี่ยม จัดทำเอกสารคำกล่าวของ ผบ.หน่วย จัดทำเอกสารคำกล่าวของผู้บรรยายสรุป จัดทำแผ่นฉายประกอบการบรรยายสรุป หรือคิดเพื่อร่างคำกล่าวให้ผู้บังคับบัญชากล่าวในพิธีเปิดการศึกษา ฯลฯ
- วิเคราะห์ผู้ฟังว่า เป็นใคร จำนวนเท่าใด มีพื้นความรู้ในเรื่องที่จะพูดมากน้อยเพียงใด มีอิทธิพลต่อการพูดของเราอย่างไร
- คิดเค้าโครงประเด็นหลักและเป้าหมายที่ต้องการได้รับจากผู้ฟัง และที่ต้องการให้ผู้ฟังได้รับ โน้ตย่อไว้
- ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะบรรยายสรุปหรือเขียนคำกล่าว โน้ตย่อเพิ่มเติม
- คิดคำกล่าวนำและกล่าวจบ
- คิดรูปแบบการจัดทำแผ่นฉายประกอบการบรรยายสรุป
เพื่อให้การคิดมีระเบียบ ไม่สับสน ไม่หลงลืม ผู้เขียนมักใช้เทคนิคการทำสมาธิทั้งก่อนนอนและก่อนเริ่มคิด และมักใช้กระดาษโน้ตวางไว้ทุกแห่งเพื่อจดบันทึกประเด็นหรือหัวข้อที่จะพูดจะเขียนไว้ได้ทุกขณะ เช่น ในกระเป๋าเสื้อเครื่องแบบ ที่โต๊ะทำงาน ในรถยนต์ ที่หัวนอน ในห้องน้ำ เป็นต้น
ประสบการณ์ในการเขียน
งานการเขียนในหน้าที่ของฝ่ายอำนวยการที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ผ่านมา หรือบางท่านอาจได้รับมอบหมายให้จัดทำแล้ว หรืออาจได้รับมอบหมายให้จัดทำ ได้แก่ การร่างหนังสือ การแก้หนังสือ การเขียนข้อพิจารณาของฝ่ายอำนวยการ การสรุปนำเรียน การร่างคำกล่าว การจัดทำกำหนดการ การจัดทำวาระการประชุม การจัดทำรายงานการประชุม การร่างระเบียบ คำสั่ง การจัดทำแนวทางการประชุมให้ประธานและเลขานุการ การจัดทำเอกสารประกอบการประชุม/บรรยายสรุป การจัดทำบทพูดของผู้บรรยายสรุป บทพาวเวอร์พ้อยท์ การจัดทำสรุปผลงานของหน่วย การจัดทำปฏิทินการปฏิบัติงานการแบ่งมอบงานให้หน่วย การจัดทำระเบียบปฏิบัติประจำ การจัดทำกำหนดการฉบับพกพา การจัดทำผังการจัดห้องประชุม ผังการจัดห้องอาหาร ผังที่นั่งในห้องประชุม/ห้องอาหาร ป้ายตั้งโต๊ะประชุม/โต๊ะอาหาร เป็นต้น สำหรับคำแนะนำประสบการณ์ในการเขียนในเอกสารฉบับนี้ ขอแนะนำเฉพาะงานการร่างหนังสือตามรูปแบบการเขียนข้อพิจารณาของฝ่ายอำนวยการที่ใช้ในกองบัญชาการทหารสูงสุด ตามอนุมัติ ผบ.ทหารสูงสุด ลง ๒๙ ต.ค. ๓๙ ท้ายหนังสือ ยก.ทหาร ด่วนมาก ที่ กห ๐๓๐๔/๑๒๒๒ ลง ๒๔ ต.ค. ๓๙ เรื่อง ขออนุมัติใช้รูปแบบการเขียนข้อพิจารณาของฝ่ายอำนวยการ ซึ่งใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายอำนวยการมากที่สุด ๒ แบบ คือ
๑. รายงานหรือเรื่องนำเรียนเพื่อทราบ
- เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องมีข้อพิจารณาเสนอแนะให้ผู้บังคับบัญชาตกลงใจหรือสั่งการ เขียนเฉพาะหัวข้อ เป็นการแบ่งเนื้อเรื่องให้มีความสัมพันธ์สอดคล้องกัน และควรมีหัวข้อไม่เกิน ๔ ข้อประกอบด้วยหัวข้อเลข ๑, ๒, ๓ และ ๔
- เริ่มจากการคิดตามวิธีคิดเพื่อเขียนว่า จะนำเรียนเพื่อทราบ หรือต้องเสนอข้อคิดเห็นเล็กน้อย หรือต้องสั่งหน่วยรอง
- ใช้ข้อเสนอของหนังสือหน่วยเหนือซึ่ง ผบ.ทหารสูงสุด อนุมัติแล้ว เป็นข้อ ๑ ของเรา
- สรุปให้ได้ใจความสำคัญ ใคร อะไร เมื่อไร ที่ไหน อย่างไร ทำไม เกี่ยวข้องกับหน่วยเราอย่างไร
- สรุปเรื่องหลายหน้าให้เหลือ ๑ - ๒ หน้า ขยายเรื่อง ๔ บรรทัดให้เป็น ๑ หน้า
- ติด TAB และใช้ปากกาเน้นข้อความช่วยทุ่นเวลา ผบช. (ใช้ได้บางเรื่อง)
๒. บันทึกความเห็น (หนังสือหรือบันทึกข้อความตามแบบข้อพิจารณาของฝ่ายอำนวยการ)
- เป็นหนังสือการทำงานโดยทั่วไปของฝ่ายอำนวยการในการให้ข้อพิจารณาและข้อเสนอแนะผู้บังคับบัญชา เพื่อตกลงใจหรือสั่งการ
- รูปแบบที่กำหนดมี ๕ แบบ ดังนี้
แบบที่ ๑ เป็นแบบที่สมบูรณ์ มี ๔ หัวข้อ ประกอบด้วย ปัญหา ข้อเท็จจริง ข้อพิจารณา และข้อเสนอ โดยเขียนหัวข้อพร้อมชื่อหัวข้อและขีดเส้นใต้ ดังนี้
๑. ปัญหา
๒. ข้อเท็จจริง
๓. ข้อพิจารณา
๔. ข้อเสนอ
แบบที่ ๒ เป็นแบบย่อ มี ๔ หัวข้อ เขียนเฉพาะหัวข้อในข้อ ๑ โดยไม่เขียนชื่อหัวข้อ แต่เนื้อหาในข้อ ๑ คือ ปัญหา ส่วนในข้อ ๒, ๓ และ ๔ เขียนหัวข้อพร้อมชื่อหัวข้อเช่นเดียวกับแบบที่ ๑ ซึ่งเป็นการเน้นเฉพาะ ข้อเท็จจริง ข้อพิจารณา และข้อเสนอ ดังนี้
๑. ……(ปัญหา)……..
๒. ข้อเท็จจริง
๓. ข้อพิจารณา
๔. ข้อเสนอ
แบบที่ ๓ เป็นแบบย่อ มี ๔ หัวข้อ เป็นแบบที่นิยมใช้กันและเหมาะสมสำหรับใช้กับงานหนังสือทั่วไป เขียนเฉพาะหัวข้อในข้อ ๑, ๒ และ ๓ โดยไม่ต้องเขียนชื่อหัวข้อ แต่เนื้อหาในข้อ ๑, ๒ และ ๓ คือ ปัญหา ข้อเท็จจริง และข้อพิจารณา ตามลำดับ ส่วนในข้อ ๔ คือ ข้อเสนอ เขียนหัวข้อพร้อมชื่อหัวข้อและขีดเส้นใต้ ดังนี้
๑. …(ปัญหา)………..
๒. …(ข้อเท็จจริง)………..
๓. …(ข้อพิจารณา)………..
๔. ข้อเสนอ
แบบที่ ๔ เป็นแบบย่อ มี ๓ หัวข้อ เขียนเฉพาะหัวข้อในข้อ ๑ และ ๒ โดยไม่เขียนชื่อหัวข้อ แต่เนื้อหาในข้อ ๑ และ ๒ คือ ปัญหา และข้อเท็จจริง + ข้อพิจารณา หรือ ปัญหา + ข้อเท็จจริง และ ข้อพิจารณา ตามลำดับ ส่วนในข้อ ๓ คือ ข้อเสนอ เขียนหัวข้อพร้อมชื่อหัวข้อและขีดเส้นใต้ ดังนี้
๑. …(ปัญหา หรือ ปัญหา + ข้อเท็จจริง)………..
๒. …(ข้อเท็จจริง + ข้อพิจารณา หรือ ข้อพิจารณา)………..
๓. ข้อเสนอ
แบบที่ ๕ เป็นแบบย่อ มี ๒ หัวข้อ เขียนเฉพาะหัวข้อในข้อ ๑ โดยไม่เขียนชื่อหัวข้อ แต่เนื้อหาในข้อ ๑ คือ ปัญหา ข้อเท็จจริง และข้อพิจารณา ส่วนในข้อ ๒ คือ ข้อเสนอ เขียนหัวข้อพร้อมชื่อหัวข้อและขีดเส้นใต้ ดังนี้
๑. …(ปัญหา + ข้อเท็จจริง + ข้อพิจารณา)………..
๒. ข้อเสนอ
- การเขียนเริ่มจากการคิดโดยการวางเค้าโครงในใจตามวิธีคิดเพื่อเขียน โดยคิด “ข้อเสนอ” ไว้ในใจก่อน
- เอาตัวอย่างเรื่องที่เคยทำลักษณะเดียวกันมาดู แต่ต้องระวังอาจได้ตัวอย่างที่ผิดหรือถูกก็ไม่แน่
- รวบรวมหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องที่จะนำมาเขียน เป็นความเป็นมาในข้อเท็จจริง หรือระเบียบปฏิบัติที่ยึดถืออยู่
- เริ่มเขียนข้อต่าง ๆ ตามลำดับ ดังนี้
๑. การเขียนข้อ ๑
- กรณีที่ทำบันทึกฯ ปะหน้าเรื่องของหน่วยรองมักไม่เขียนคำว่า “๑. ปัญหา” มักจะใช้เฉพาะตัวเลขข้อ “๑. .......” แล้วตามด้วยข้อความที่เป็นความประสงค์ของหน่วยรอง
- ข้อนี้จะเขียนสรุปความต้องการของหน่วยรองเรียงตามลำดับ ใคร อะไร เมื่อไร ที่ไหน อย่างไร หรือทำไม
๒. การเขียนข้อ ๒
- ใช้ “๒. ข้อเท็จจริง” หรือ “๒. ......” แล้วตามด้วยข้อความที่เป็นข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องก็ได้
- ถ้ามีข้อเท็จจริงเพียงประเด็นเดียวหรือข้อมูลน้อย อาจเขียนต่อจากหัวข้อได้เลย แต่ถ้ามีข้อมูลมากกว่าประเด็นเดียว จะใช้ข้อย่อย ๒.๑, ๒.๒ ตามลำดับ
- เลือกเขียนเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องและตรงประเด็นกับเรื่องนั้น ๆ และเป็นข้อมูลที่จะใช้เขียนให้สัมพันธ์กับข้อพิจารณาและข้อเสนอ
- โดยมากมักจะอ้างระเบียบหรืออนุมัติหลักการ หรือการดำเนินการที่ได้เกิดขึ้นแล้ว
๓. การเขียนข้อ ๓
- ใช้ “๓. ข้อพิจารณา” หรือ “๓. ......” แล้วตามด้วยข้อความที่เป็นข้อคิดเห็นของผู้ลงนามในหนังสือฉบับนี้ (ฝ่ายอำนวยการเป็นผู้คิดแทน ผอ.กอง และ ผบ.หน่วย)
- ถ้าใช้ “๓. ข้อพิจารณา” มักจะเขียนข้อความที่คิดพิจารณาต่อไปเลย แต่ถ้าใช้ “๓. ......” จะเขียนเป็นข้อความที่คิดพิจารณาต่อไปเลย หรือขึ้นต้นว่า “...(หน่วย)...พิจารณาเห็นว่า......” ก็ได้
- ถ้ามีข้อพิจารณาเพียงประเด็นเดียว อาจเขียนต่อจากหัวข้อได้เลย หากมีข้อพิจารณาหลายประเด็น จะใช้ข้อย่อย ๓.๑, ๓.๒ ตามลำดับ
- เพื่อความสวยงามของหนังสือ อาจใช้รูปแบบการเขียน ข้อ ๒ และ ข้อ ๓ ให้สอดคล้องกันหรือเหมือนกัน เช่น ถ้าข้อ ๒. ข้อเท็จจริง มีข้อย่อย ข้อ ๓. ข้อพิจารณา ก็ควรมีข้อย่อยด้วย แต่ไม่จำเป็นเสมอไป
- พิจารณาเฉพาะประเด็นใหม่ ๆ สำคัญ ๆ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นคล้อยตาม และโน้มน้าวไปสู่ข้อเสนอที่คิดไว้ในใจ
๔. การเขียนข้อ ๔
- ใช้ “๔. ข้อเสนอ” เสมอ
- ถ้าข้อความมีน้อยเขียนต่อจากหัวข้อได้เลย แต่ถ้ามีหลายประเด็น จะใช้ข้อย่อย ๔.๑, ๔.๒ ตามลำดับ
- เขียนตามที่คิดไว้ในใจตอนต้น ถ้ามั่นใจว่ามีหนทางปฏิบัติ (ห/ป) เดียว ก็เสนอ ห/ป เดียว แต่ถ้ามีวิธีปฏิบัติได้ ๒ ห/ป และไม่แน่ใจว่า ผบ.หน่วย จะเลือกแบบใด อาจต้องเสนอทั้ง ๒ ห/ป
- ถ้าเสนอว่าเห็นควรมีหนังสือเสนอหน่วยใด หรือนำเรียน ผบ.ทหารสูงสุด จะต้องร่างหนังสือสำหรับ ผบ.หน่วย ลงนามถึงหน่วยนอก หรือ ผบ.ทหารสูงสุด ด้วย
- การร่างหนังสือต้องสวมบททำความรู้สึกให้เป็นผู้ที่จะลงนามในหนังสือเป็นผู้เขียน เช่น
ฉบับแรก เขียนในนาม ผอ.กอง เรียน ผบ.หน่วย ต้องสวมบท ผอ.กอง
ฉบับสอง เขียนในนาม ผบ.หน่วย เรียน ผบ.ทหารสูงสุด ต้องสวมบท ผบ.หน่วย
ฉบับสาม เขียนในนาม ผบ.ทหารสูงสุด เรียน รมว.กห. ต้องสวมบท ผบ.ทหารสูงสุด
- ฉะนั้น ต้องเขียนได้ทุกบท หากรู้อุปนิสัยและความสัมพันธ์ระหว่าง ผบช. แต่ละระดับ จะช่วยให้เขียนตรงใจและถูกใจมากขึ้น
นอกจากงานการร่างหนังสือแล้ว ฝ่ายอำนวยการควรมีความรู้ในการแก้ร่างหนังสือด้วย ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมเทคนิคและเครื่องหมายในการแก้ร่างหนังสือตามแนวทางหนึ่งที่อาจใช้เป็นสากล มานำเสนอไว้ตามตัวอย่างในภาคผนวก การแก้ร่างหนังสือควรแก้เพื่อให้ถูกต้อง (ถูกแบบ ถูกเนื้อหา ถูกหลักภาษา ถูกความนิยม) แก้เพื่อให้ชัดเจน แก้เพื่อให้รัดกุม แก้เพื่อให้กะทัดรัด แก้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป็นผลดี โดยมีศิลปะในการแก้ร่างหนังสือ ๕ ประการ คือ
๑. รักษาน้ำใจผู้ร่าง ให้พยายามแก้ร่างของผู้ร่าง ไม่ควรร่างใหม่โดยขีดฆ่าหรือฉีกร่างเดิมทิ้งทั้งหมด อย่างน้อยให้เหลือร่างเดิมไว้คำหนึ่งก็ยังดี เพื่อให้ผู้ร่างยังเห็นว่าเป็นร่างของเขาซึ่งเรายอมรับ ถ้าขีดฆ่าหรือฉีกร่างเดิมทิ้งทั้งหมด จะเท่ากับเป็นการตำหนิหรือดูถูกผู้ร่างซึ่งจะเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจของผู้ร่างอย่างมาก
๒. เห็นใจผู้พิมพ์ การแก้ร่างหนังสือควรแก้ให้เห็นชัดพอที่ผู้พิมพ์จะอ่านได้สะดวก ไม่ควรแก้ขยุกขยิกจนอ่านยาก ถ้าตกเติมข้อความควรลากโยงไปเขียนข้างนอกในที่ว่าง ๆ ดีกว่าที่จะพยายามแทรกลงไประหว่างบรรทัด ใช้เครื่องหมายในการแก้ให้ชัดเจน และควรใช้หมึกหรือดินสอต่างสีกับร่างเดิมเพื่อให้เห็นชัด และเพื่อให้ผู้พิมพ์สามารถพิมพ์ได้สะดวก
๓. ไม่ควรแก้ถ้าไม่จำเป็น การแก้ร่างหนังสือควรแก้ให้ดีขึ้น ถ้าร่างหนังสือนั้นอ่านได้ความ ถูกต้อง ชัดเจน รัดกุม กะทัดรัด และบรรลุวัตถุประสงค์ดีอยู่แล้ว ไม่ควรแก้เพื่อแสดงความเป็นนาย เช่น ไม่ควรแก้คำว่า “ที่” เป็น “ซึ่ง” หรือ “ซึ่ง” เป็น “ที่” ทั้ง ๆ ที่อ่านได้ความดีอยู่แล้ว
๔. แก้ให้อยู่กับร่องกับรอย ถ้าเคยแก้ร่างหนังสือฉบับก่อน ๆ ไปอย่างไร ก็ควรแก้ร่างหนังสือฉบับหลัง ๆ แบบเดียวกัน ไม่ควรแก้กลับไปกลับมาไม่อยู่กับร่องกับรอย
๕. แก้โดยมีหลักเกณฑ์ที่สามารถอธิบายเหตุผลในการแก้ได้ เมื่อแก้แล้วต้องสามารถอธิบายเหตุผลในการแก้ให้ผู้ร่างเข้าใจและยอมรับ เช่น แก้เพื่อให้ถูกต้อง แก้ให้ชัดเจน แก้ให้รัดกุม แก้ให้กะทัดรัดหรือกระชับขึ้น แก้ให้บรรลุวัตถุประสงค์ แก้ให้มีศิลปะในการเขียน แก้ให้คมคายสละสลวย แก้ให้เชื่อมโยงสัมพันธ์กันดีขึ้น เป็นต้น
ประสบการณ์ในการพูด
งานการพูดที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานที่ผ่านมามี ๔ - ๕ รูปแบบ ได้แก่ การพูดประสานงาน การพูดโต้ตอบในที่ประชุม (ในฐานะประธาน, เลขา, ผช.เลขา, กรรมการ, ผู้แทนหน่วย) การพูดเมื่อ ผบช. เรียกพบ การพูดบรรยายสรุป และการพูดกับลูกน้อง การพูดทุกรูปแบบจะเริ่มต้นจากการคิดเพื่อพูดตามที่กล่าวมาแล้ว สำหรับการพูดในรูปแบบต่าง ๆ ผู้เขียนใช้แนวทางดังนี้
๑. การพูดประสานงาน ยึดหลัก ไม่ใช้อารมณ์ เก็บความรู้สึกขุ่นเคืองไว้ในใจ พูดตามหลักการ ให้เกียรติคู่สนทนา แบ่งให้เขาพูดบ้าง ประสานในฐานะฝ่ายอำนวยการไม่ใช่สั่ง รักษาน้ำใจ รักษาไมตรี ประสานในระดับเดียวกัน หรือต่ำกว่า
๒. การพูดโต้ตอบในที่ประชุม พอเตรียมการล่วงหน้าได้ ยึดหลัก พูดตามหลักการ/ หลักฐาน พูดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ถามเพื่อให้เกิดประโยชน์ ไม่ถามให้ผู้อื่นเสียหาย ตอบเท่าที่รู้จริง ไม่รู้จริง ขอรับมาหารือผู้บังคับบัญชา ตอบให้ตรงประเด็น ต้องรู้ใจประธานชอบให้ตอบแบบไหนสั้น - ยาว
๓. การพูดเมื่อ ผบช. เรียกพบ ไม่ค่อยมีเวลาเตรียมการ นึกทบทวนว่าได้เสนอเรื่องอะไรเตรียมข้อมูลติดมือไปด้วย สอบถามหน้าห้องเพื่อเตรียมความคิด อย่าลืมสมุดจด ตอบให้ตรงประเด็น บันทึกสั่งการให้ครบ ถ้าไม่แน่ใจถามให้ชัดเจน
๔. การพูดบรรยายสรุป หรือพูดในที่ชุมชน เตรียมการล่วงหน้าได้นาน ยึดหลัก คิด/เขียนบทให้ดี เสนอบทให้ ผบช. เห็นชอบก่อนทั้งบทพูด และบทพาวเวอร์พ้อยท์ เตรียมเครื่องช่วยนำเสนอให้พร้อม ซักซ้อมให้มั่นใจ ซ้อมกับเจ้าหน้าที่ ซ้อมพูดตามลำพังให้ปากคุ้นกับคำต่าง ๆ มองที่ประธานขณะพูด ไม่ก้มหน้าก้มตาอ่าน เตรียมความรู้ในเรื่องที่พูดเพื่อพูดด้วยความมั่นใจ
๕. การพูดกับลูกน้อง ยึดหลัก โคนันทวิศาล เพื่อนร่วมงาน ร่วมกันทำหน้าที่ของแต่ละคน ให้ทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ

บทที่ ๓
ปัญหาและเทคนิคในการปฏิบัติงาน

ปัญหาที่เคยประสบและวิธีแก้ไข
- ประสานงานกับฝ่ายอำนวยการของหน่วยรองที่มีอาวุโสสูงกว่า เพื่อแจ้งให้ทราบว่าหนังสือที่ร่างมาให้ ผบ.หน่วย ลงนาม มีจุดที่ควรแก้ไขบางจุด เนื่องจากผิดรูปแบบที่ บก.ทหารสูงสุด กำหนดไว้ แต่ไม่ได้รับการยอมรับเนื่องจากเกรงว่าหนังสือจะช้าไป หรืออาจทำให้ถูก ผบ.หน่วยรอง ตำหนิ
วิธีแก้ไข แจ้งให้ ผอ.กอง ทราบเพื่อช่วยชี้แจงยืนยันตามที่เราชี้แจง หรือบอกให้คุยกับหน่วยเหนือที่กำหนดรูปแบบนั้นโดยตรง หรือแจ้งข้อขัดข้องและจุดที่ผิดให้หน้าห้องผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อแจ้งยืนยันตามเรา หรือเพื่อแจ้งผู้บังคับบัญชาให้สั่งการให้แก้ไข หรือหลีกเลี่ยงการประสานกับคนนี้ ถ้าแก้ไม่ได้ต้องทำใจ
- ถูกคัดค้านในที่ประชุม
วิธีแก้ไข ถ้ามีเหตุผลเราก็ชี้แจง หรือขอรับไปเรียน ผบ.หน่วย หรือ ขอรับไปหาหลักฐานที่ว่านั้น ถ้าเป็นประธานอาจใช้วิธีขอมติที่ประชุม
- ถูกบีบจาก ผบช. ที่ไม่มีคุณธรรมให้ทำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
วิธีแก้ไข ขอย้ายตัวเองออกจากหน่วยนั้น
- หน่วยรองไม่ยอมรับหรือไม่พอใจที่เราแก้หนังสือซึ่ง ผบ.หน่วยรอง ลงนามมาแล้ว
วิธีแก้ไข เขียนโน้ตติดเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาที่เรื่องจะต้องผ่านทราบว่าเราได้ประสานแล้วแต่ฝ่ายอำนวยการของหน่วยรองขอยืนยันตามนี้ หรือถ้าผิดเล็กน้อยไม่ทำให้เกิดความเสียหายหรือเสียชื่อ ผบ.หน่วย ที่จะต้องลงนามก็แจ้งให้หน่วยรองทราบเพื่อไม่ให้ผิดในฉบับต่อไป หรือประสานขอให้หน่วยแก้เฉพาะฉบับจริงเพื่อไม่ต้องรบกวน ผบ.หน่วยรอง ลงนามใหม่ หรือถ้าผิดมากร่างฉบับใหม่ให้เลยและลงนามร่างเอง
- ผบ. หลายคน หรือหน้าห้อง ผบ. หลายสำนักงาน กำหนดรายละเอียดในการร่างหนังสือไม่เหมือนกัน
วิธีแก้ไข พิจารณาดูว่าข้อกำหนดของสำนักงานไหนน่าจะเหมาะสมกว่ากัน แล้วไปหาอีกสำนักงานหนึ่งแจ้งว่าอีกสำนักงานนั้นกำหนดแบบนี้ หรือถ้าเห็นว่าสามารถปฏิบัติได้ทั้งสองแบบก็ไปหาสำนักงานที่อาวุโสน้อยกว่าเพื่อแจ้งว่าอีกสำนักงานหนึ่งกำหนดแบบนี้ จะให้ยึดถือปฏิบัติอย่างไร
- ผู้แทนหน่วยที่เชิญเข้าร่วมประชุมไม่มาเมื่อถึงเวลาเริ่มประชุมแล้ว
วิธีแก้ไข โทรศัพท์ไปเตือนล่วงหน้าก่อนวันประชุม อย่างน้อย ๑ วัน พร้อมขอรายชื่อผู้แทนหน่วยที่จะมาประชุม
- พาวเวอร์พ้อยท์ที่ฉายประกอบการบรรยายสรุปเป็นคนละเรื่องกับเรื่องที่พูด
วิธีแก้ไข หาเวลาไปซ้อมก่อนบรรยายให้ได้
เทคนิคส่วนตัวที่มักใช้ประจำในการปฏิบัติงาน
- สร้างความสัมพันธ์อันดีกับ ทส. และ นายทหารหน้าห้องผู้บังคับบัญชาทุกระดับที่หนังสือจะต้องผ่าน
- มีของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ ผอ.กอง และกำลังพลทุกคนในกอง เมื่อถึงวันเกิดหรือเทศกาลปีใหม่
- ถ้ารุ่นพี่โทรมาบอกว่าจะมาประสานเรื่องงาน จะเป็นฝ่ายเดินไปหารุ่นพี่เอง
- ใช้หลักธรรมะในการปฏิบัติงาน ที่ใช้ประจำได้แก่
* เราจะให้อภัย ไม่โกรธ ไม่หงุดหงิด ไม่อึดอัดขัดเคืองผู้ใด หรือเรื่องใด
* เราจะช่วยเหลือผู้อื่นตามหน้าที่ กำลัง และโอกาสที่จะพึงทำได้
* เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา จงเลือกเอาส่วนที่ดีเขามีอยู่ เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย จะหาคนมีดีโดยส่วนเดียว อย่ามัวเที่ยวมองหาสหายเอ๋ย เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเปล่าเลย ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง
* กรรมบท ๑๐ ได้แก่ กาย ๓ (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม) วาจา ๔(ไม่พูดปด ไม่พูดหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ) ใจ ๓ (ไม่คิดอยากได้ทรัพย์ผู้อื่น – โลภะ ไม่ผูกอาฆาต – โทสะ มีความเห็นถูกต้อง – โมหะ)
* แก้ที่คนอื่นยาก ต้องแก้ที่ใจเรา
- ตั้งใจที่จะพัฒนาจิตใจตนเองให้มีจริยธรรมคุณธรรมและศีลธรรมยิ่ง ๆ ขึ้น โดยเฉพาะเวลาขับรถซึ่งต้องนั่งอยู่ในรถอย่างน้อยวันละ ๓ ชม. ใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาจิตใจได้มาก ไม่ปล่อยใจไปตามกระแสสังคมซึ่งต้องเอาตัวรอด ขอไปก่อน ขอไปเร็ว ไม่มีน้ำใจให้กัน
- ซื่อสัตย์ จริงใจต่อ ผอ.กอง และ นายทหารในกอง ถือหลัก รายงาน ผบช. ทุกเรื่องกระจายข่าวสาร แลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อนร่วมงาน
- รายงานเรื่องที่ทำการแทน ผอ.กอง ทันที่ที่ท่านกลับมา หรือเขียนโน้ตทิ้งไว้บนโต๊ะ ผอ.กอง
- เมื่อนายเรียก ผอ.กอง ช่วยคิดและคาดเดาว่าจะเป็นเรื่องอะไร เสนอแฟ้มอะไรขึ้นไปหรือสอบถาม ทส. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ ผอ.กอง เอาเรื่องเดิมมาให้ท่านทบทวน เสนอแนะจุดที่คิดว่าน่าจะเป็นปัญหา และคำตอบหรือคำชี้แจง ผบช.
- รับการแสดงการเคารพของผู้อื่นด้วยความเคารพ ยิ้มแย้มแจ่มใส โค้งตอบนายทหารเมื่อเขาเงยหน้าแล้ว
- รักษาน้ำใจเพื่อนร่วมงาน และผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น การแก้หนังสือ การรับประทานของว่าง
- ให้ความเห็นใจต่อความจำเป็นส่วนตัวของแต่ละคน ถามทุกข์สุข ถามการเดินทางไป - กลับบ้าน เห็นใจไม่ใช้งานใกล้เวลากลับบ้าน
- ก่อนเวลางาน หรือพักเที่ยง หรือเกินเวลางาน ถ้ามีงานด่วนมักจะพิมพ์เองทำเอง แล้วลูกน้องเขาก็มาช่วยเอง
- ใช้คนให้เหมาะกับงาน รู้ว่าใครถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไร สั่งแล้วทำไม่ถูก ใคร่ครวญดูว่าเขาเข้าใจผิดหรือเราสั่งไม่ชัดเจน
- พูดกับลูกน้องที่เกเร แบบสองต่อสอง สอบถามความจำเป็นส่วนตัว ขอให้คิดถึงส่วนรวมไม่เอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน ไม่ด่าว่าต่อหน้าคนอื่น
- ไม่ทำลายบรรยากาศในสำนักงานด้วยการระบายอารมณ์ใส่ลูกน้อง
- ขอโทษทุกคนเสมอทั้ง ผอ.กอง นายทหาร นายสิบ เมื่อความผิดพลาดนั้นเกิดจากเรา
- ให้เกียรติด้วยคำพูดต่อนายทหาร, นายสิบ ที่มีอายุมากกว่า แต่ไม่ให้เสียการปกครองตามสายการบังคับบัญชา
- ลูกน้องปฏิบัติไม่ถูกไม่เหมาะสมด้วยเรื่องใด ไม่ต่อว่าทันที ดูที่ตัวเราก่อนว่าสั่งผิดหรือเปล่า พูดหรือเขียนไม่ชัดเจนหรือเปล่า ถ้าตรวจสอบแล้วเราไม่ผิด จะใช้วิธีสอนและอธิบายในสิ่งที่ถูกให้ฟัง
- ไม่โทษลูกน้องเมื่อ ผบช. ตำหนิ เนื่องจากเอกสารผิดพลาดเพราะเราก็มีส่วนในการตรวจผ่านไป
- หน้าห้อง ผบช. แก้หนังสือเรา ถ้าเราผิดจริงยอมแก้โดยดุษณีและขอบคุณเขาที่ช่วยดูไม่โกรธ แต่ถ้าเขาผิด ขึ้นไปอธิบายให้ฟังหรือเขียนโน้ตชี้แจง ขออนุญาตยืนยันตามเดิมยกเว้นนายสั่งแก้
- เรื่องด่วนที่สุด สำคัญจริง ๆ ต้องรู้วิธีลัดขั้นตอน ทั้งการเสนอเซ็น และการให้ม้าเร็วไปส่งหนังสือถึงตัวผู้ดำเนินการต่อ ไม่ยึดติดกับระเบียบปฏิบัติจนเกินไป
- ให้เกียรติหน้าห้อง ผบช. ในการตรวจแก้หนังสือ ถึงแม้เขาจะมียศน้อยกว่า ถือว่าเขาช่วยไม่ให้หนังสือของหน่วยผิดพลาด
- ไม่แก้ร่างหนังสือของลูกน้องโดยฉีกทิ้งทั้งฉบับหรือร่างใหม่ทั้งหมด พยายามใช้กระดาษของเขาและข้อความของเขาให้มากที่สุด เพื่อรักษาน้ำใจและเสริมสร้างกำลังใจ
- การแก้ร่างหนังสือหากงานไม่ยุ่งมากจะพยายามแก้ไขร่างที่ลูกน้องเขียนมาทุกเรื่อง จะไม่ใช้วิธี “พูดอย่างเดียว” ว่าให้ไปปรับอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อให้ลูกน้องไม่อึดอัดและบ่นในใจว่า “ก็ผมคิดได้แค่นี้ จะให้แก้อย่างไรก็เขียนมาสิ” และเพื่อให้เขามีตัวอย่างเก็บไว้ดูด้วยว่าเราคิดอย่างไรเขียนอย่างไร
- สนับสนุนลูกน้องที่หารายได้พิเศษโดยสุจริต ไม่เบียดบังเวลาราชการจนเกินไป เช่น ช่วยซื้อของที่นำมาขายนอกเวลางาน ฯลฯ
- กล่าวชมเชยและขอบคุณลูกน้องเสมอ ๆ
- ดูแลให้มีเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำงานของลูกน้องอย่างเพียงพอไม่สั่งงานอย่างเดียว
- ใช้งานลูกน้องออกนอกหน่วย ให้ค่าอาหาร ค่าน้ำมัน จยย. และใช้ในเส้นทางกลับบ้าน
- รีบแจ้งเรื่องสำคัญเร่งด่วน ที่เกี่ยวข้องกับกำหนดการปฏิบัติของ ผบช. ให้หน้าห้องทราบทางโทรศัพท์ในชั้นต้นก่อน แล้วจึงทำงานหนังสือ
- ปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างทุกเรื่องที่ นายทหาร, นายสิบ มักจะปฏิบัติย่อหย่อน เช่น
* การตรงต่อเวลาในการเข้าทำงานเช้า พักกลางวัน และเวลากลับบ้าน
* การไม่ใช้โทรศัพท์ราชการติดต่อเรื่องส่วนตัว
* การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบของโต๊ะทำงาน
* การประหยัดไฟฟ้าด้วยการปิด - เปิดไฟ/เครื่องปรับอากาศ ตามเวลาที่กำหนด
* การไปร่วมฟังธรรมและทดสอบร่างกาย
* การไม่กู้หนี้ยืมสิน ไม่เล่นหวยใต้ดินในที่ทำงาน
* ไม่สวมรองเท้าแตะนั่งทำงาน หรือเดินออกนอกโต๊ะทำงาน
* สวมหมวกและเข็มขัดนิรภัย เมื่อแต่งเครื่องแบบขับรถยนต์
* ใช้ห้องน้ำแล้วราดให้เรียบร้อย ช่วยปิดก๊อกที่ปิดไม่สนิท
* ช่วยเก็บถ้วยจานที่ลูกน้องบริการของว่างบนโต๊ะทำงาน
* ช่วยปิดสำนักงานหน้าต่างประตูเมื่อจะกลับบ้าน
* เซ็นแฟ้มแล้วเดินเอาไปให้ลูกน้องที่โต๊ะรับ - ส่ง เรื่องเข้ากองเจ้าหน้าที่ไม่อยู่ไปรับเรื่อง ลงทะเบียนให้เอง
* รีบทำเรื่องด่วนทันทีที่เห็นไม่รอให้ลูกน้องนำมาให้ตามขั้นตอน
* เซ็นแฟ้มทันทีที่ลูกน้องนำมาวางไม่ให้เรื่องแช่อยู่ที่โต๊ะเรา
* ไม่ใช้ลูกน้องทำธุระส่วนตัวมากจนเกินควร


บทที่ ๔
จริยธรรมและคุณธรรมของฝ่ายอำนวยการ

ความคิดและปณิธานของผู้เขียน
การปฏิบัติราชการให้ดีนั้น นอกจากฝ่ายอำนวยการควรยึดถือ “หลักการ” และอาศัย “ประสบการณ์” แล้ว ผู้เขียนคิดว่า ฝ่ายอำนวยการที่ดีควรยึดมั่นใน “จริยธรรม” และ “คุณธรรม” อีกด้วย ซึ่งพื้นฐานของจริยธรรมและคุณธรรมล้วนมาจาก “ศีลธรรม” ซึ่งพระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้นานแล้ว หากได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามอย่างจริงจังจะมีแต่ประโยชน์สุข ผู้เขียนสนใจปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่เด็ก สนใจปฏิบัติทั้งด้าน ทาน ศีล และภาวนา เมื่อเรียนจบและเริ่มรับราชการเป็นนายทหารเมื่ออายุ ๒๓ ปี ก็มีการเข้าสังคมบ้าง แต่ก็ไม่พยายามละเมิดศีล ๕ เท่าที่จะหลีกเลี่ยงได้ จนเมื่ออายุได้ ๓๑ ปี ได้ตั้งใจสมาทานศีล ๕ ตลอดชีวิต โดยตั้งปณิธานว่า จะไม่ยอมให้ศีล ๕ ด่างพร้อยแม้แต่น้อยนิดจนตลอดชีวิต
ผู้เขียนมีความศรัทธาและความเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธองค์ โดยเฉพาะหัวใจของพุทธศาสนา ซึ่งได้แก่ อริยสัจสี่ และมรรคมีองค์แปด จึงได้ดำเนินชีวิตทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตราชการตามแนวทางดังกล่าวตลอดมา โดยกำหนดจุดมุ่งหมายของชีวิตไว้ตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ นั่นคือ พยายามไปให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ในระหว่างที่ยังไม่ตายก็ใช้ร่างกายนี้ให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นอย่างสูงสุด และเน้นการปฏิบัติที่ “จิตใจ” เพื่อขัดเกลากิเลสออกจากจิตใจเป็นหลัก รวมทั้งเชื่อมั่นตามคำสอนของท่านพุทธทาสที่ว่า “การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม” ยิ่งทำงานมากยิ่งมีโอกาสปฏิบัติธรรมมาก มีโอกาสสะสมความดีมาก มีโอกาสขัดเกลา “จิตใจ” ได้มาก
ในฐานะข้าราชการ ผู้เขียนมีความคิดว่า เราเป็นข้าของพระเจ้าแผ่นดินที่ทำงานแทนพระองค์ท่าน ถึงแม้จะอยู่จุดใดตำแหน่งใดในกองทัพ ก็ถือว่าต้องทำงานแทนพระองค์ท่านให้ดีที่สุด และมักระลึกถึงพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภาพที่ทรงงานจนพระเสโทไหลย้อยที่ปลายพระนาสิก ทั้งที่ พระองค์ท่านไม่จำเป็นต้องทรงงานตรากตรำขนาดนั้นก็ได้ ฉะนั้น เราในฐานะข้าของพระองค์ท่าน จึงควรปฏิบัติหน้าที่ให้เต็มที่ เต็มเวลา เต็มความรู้ความสามารถ เพื่อมุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่
ในการรับราชการที่ผ่านมาเป็นเวลา ๒๒ ปี ผู้เขียนได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ทั้งในฐานะผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา และฝ่ายอำนวยการ ทั้งฝ่ายอำนวยการประสานงาน และฝ่ายอำนวยการประจำตัว และมีนิสัยชอบบันทึกคำแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ รวมทั้งการทำงานบางอย่างในชีวิตส่วนตัวไว้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังหรือผู้อื่น ที่ได้รับมอบให้ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน หรือจะทำงานส่วนตัวอย่างเดียวกัน สำหรับเรื่องจริยธรรมและคุณธรรมในการปฏิบัติราชการที่ผู้เขียนได้ยึดถือปฏิบัติตลอดมามีตามที่ปรากฎต่อไป ขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเป็นแนวทางหนึ่งของข้าราชการผู้หนึ่งเท่านั้น
ข้อที่พึงละเว้น
- ไม่นินทานาย หรือกล่าวถึงส่วนไม่ดีของนายให้ผู้ใดฟังทั้งสิ้น
- ไม่พูดเรื่องส่วนตัวของนายให้ผู้อื่นทราบแม้คนใกล้ชิดในครอบครัวของเรา
- ไม่ปิดบังเรื่องใด ๆ กับนายแม้ความผิดของตัวเองก็ยอมรับผิดอย่างตรงไปตรงมา
- ไม่ฟ้องนายในเรื่องที่เพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องทำผิดพลาด บางเรื่องกลับต้องออกรับหน้าแทนเสียเอง
- ไม่เอาเปรียบเพื่อนร่วมงานในทุกเรื่อง
- ไม่เห็นแก่ตัวเอาความดีใส่ตัวเพียงคนเดียว หรือโยนความผิดให้ผู้อื่น
- ไม่งอนหรือแสดงสีหน้าไม่พอใจนาย เมื่อนายใช้อารมณ์กับเรา
- ไม่เถียงนายต่อหน้าผู้อื่น ใช้วิธีขออนุญาตชี้แจงเมื่อไม่มีคนอื่นแล้ว
- ไม่ต้องให้นายสั่งไปเสียทุกเรื่อง
- ไม่ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของนาย
- ไม่ทำหรือส่งเสริมหรือสนับสนุนให้นายทำในสิ่งที่ผิดศีลธรรม, คุณธรรม, จริยธรรม, ระเบียบ, ข้อบังคับ ตลอดจนกฎหมายบ้านเมือง
- ไม่ประพฤติตนผิดศีลธรรม, จริยธรรม, ระเบียบ, ข้อบังคับ, กฎหมายบ้านเมือง จนมีเรื่องเดือนร้อนมาถึงนาย
- ไม่รับสินบนหรือของกำนัลในลักษณะสินบนจากบุคคลอื่น
- ไม่ใช้หน้าที่และฐานะที่อยู่หน้าห้องนาย เพื่ออำนวยประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง หรือคนในครอบครัวในทางที่ไม่สมควร
- ไม่นำพวกพ้องหรือคนในครอบครัวมาเป็นภาระให้นายช่วยเหลือ
- ไม่ร้องขอความช่วยเหลือในเรื่องส่วนตัวใด ๆ จากนาย ยกเว้น นายยื่นมือเข้าช่วยเหลือเอง
- ไม่กีดกันบุคคลใด ๆ ไม่ให้เข้าพบหรือติดต่อกับนาย ยกเว้นบุคคลที่นายสั่งไว้ (ไม่หวงนาย)
- ไม่ตัดสินใจหรือออกความเห็นแทนนายในเรื่องที่บุคคลในหน่วยงานขอให้ถามนาย
- ไม่แก้หนังสือของหน่วยรอง และส่งกลับคืนเสียเองก่อนนำเรียนนาย
- ไม่ตอบนายว่า “ไม่ทราบ” อยู่เสมอ ๆ ควรใช้คำพูดว่า “ขออนุญาตไปตรวจสอบก่อน”
- ไม่ใช้โทรศัพท์ของนาย หรือเวลาที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้นายไปติดต่อเรื่องส่วนตัว
- ไม่ฉวยโอกาสแสวงประโยชน์ส่วนตัวจากบุคคลที่มาติดต่อกับนายหรือแขกของนาย
- ไม่เปิดเผยข้อราชการหรือการสั่งการของนายที่เป็นเรื่องลับ หรือเรื่องที่ไม่ควรเปิดเผยทั่วไป ให้แก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง
- ไม่อ้างนายหรือคำสั่งนาย หรือทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นคำสั่งนาย ต่อผู้อื่นเพื่อประโยชน์ตน
- ไม่ขออนุญาตไปทำธุระส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงความสำคัญของงานของนายในวันนั้น
ข้อที่พึงปฏิบัติ
- กล่าวสรรเสริญความดีของนายต่อบุคคลอื่นเสมอ (ถึงแม้มีส่วนที่ไม่ดีอยู่บ้างก็จะพูดเฉพาะส่วนที่ดี)
- รักษาความลับในเรื่องส่วนตัวของนาย
- กล้าพูด กล้าถาม กล้าแสดงความคิดเห็นทุกเรื่อง อย่างตรงไปตรงมา
- เสนอแนะนายในการดูแลสวัสดิการและความก้าวหน้าของเพื่อนร่วมงานและลูกน้อง
- ทำใจให้พร้อมที่จะรองรับอารมณ์โกรธหรือถูกด่าว่า ถูกตำหนิจากนาย (บางคน) โดยไม่แสดงออกซึ่งความไม่พอใจ
- ชี้แจงเหตุผลให้นายทราบเมื่อนายอารมณ์เย็นลงแล้ว
- ดูแลต้อนรับผู้มาติดต่อกับนาย และแขกของนายอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องให้นายสั่ง
- ริเริ่มวาดภาพล่วงหน้าเสมอ สมมุติว่าถ้าเราเป็นนายเราจะต้องไปไหน ทำอะไรบ้างในวันนี้และพรุ่งนี้ ควรจะต้องรับรู้หรือเตรียมการอย่างไรบ้าง แล้วเราก็เตรียมแบบนั้นให้นายโดยไม่ต้องรอให้นายสั่งก่อนจึงทำ
- ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอันดี การพูดติดต่อประสานงานกระทำด้วยวาจาสุภาพ แต่งกายเรียบร้อยถูกระเบียบ มีวินัยในการแสดงการเคารพ ไม่ถือตัวว่าอยู่หน้าห้องนายแล้วไม่ต้องไหว้ใคร ทำตัวให้ผู้อื่นชื่นชม
- ปฏิบัติต่อบุคคลต่าง ๆ ตามนโยบายของนาย เช่น ผู้ใดไม่ต้องการพูดโทรศัพท์ด้วย หรือไม่อยากให้เข้าพบ เป็นต้น ต้องรู้จักหาวิธีพูดปฏิเสธโดยนุ่มนวล ไม่ให้เขารู้สึกว่านายสั่งไว้
- หากตรวจพบข้อผิดพลาดในหนังสือที่จะนำเรียนนาย ควรนำกลับไปถามนายรองคนสุดท้ายที่เซ็นเสนอขึ้นมาให้ท่านตัดสินใจและรับผิดชอบดำเนินการต่อไป ไม่ควรติดต่อกับเจ้าของเรื่องโดยตรง ยกเว้นเป็นคำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ควรกวนนายรอง
- มาถึงที่ทำงานก่อนนายและกลับหลังนายเสมอ
- ใช้คำพูดที่เหมาะสมในการตอบผู้มาติดต่อในขณะที่นายพักผ่อนอยู่ หรือออกไปรับประทานอาหารกลางวันแล้วยังไม่กลับเข้าสำนักงาน
- รีบติดต่อแจ้งให้นายทราบทันทีที่นายใหญ่เรียกพบ หรือมีบันทึกสั่งการในหนังสือที่กลับลงมา
- ต้องเรียนรู้นิสัยใจคอของนายรู้ว่าสิ่งใดที่เราควรพูด ควรทำหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ในช่วงจังหวะเวลาใด
ข้อคิดบางประการในการทำงานเกี่ยวกับการเงิน
ผู้เขียนได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาบางท่านให้ทำงานเกี่ยวกับการเงิน ทั้งเงินส่วนตัวของผู้บังคับบัญชาและเงินแก้ปัญหาของหน่วย กับได้เคยสัมผัสกับเจ้าหน้าที่การเงินบางท่านในหลายหน่วยงานที่รับราชการผ่านมา มีข้อคิดบางประการในการทำงานเกี่ยวกับการเงิน ดังนี้
- มีความรู้สึกต่อเงินหลวงเสมือนหนึ่งเป็นผู้เก็บรักษาเศษกระดาษ (ไม่มีค่าสำหรับเรา) แต่ต้องเก็บรักษาให้ดีเหมือนธนาคารรับฝากเงินคนอื่น
- เก็บเงินหลวงกับเงินส่วนตัวคนละกระเป๋า คนละบัญชี เพื่อป้องกันการครหา
- เงินแก้ปัญหาของผู้บังคับบัญชา ต้องสนับสนุนให้หน่วยเกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาในการปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว ทันเวลา ไม่กำหนดข้อปฏิบัติด้านเอกสารยุบยิบเกินไป เพื่อมุ่งแต่จะป้องกันตนเองไม่ให้ถูกกล่าวหาว่า ทุจริต หรือไม่รอบคอบ
- ทำหน้าที่ถือเงินหลวง ถ้าออกเงินให้กู้ (ถึงแม้จะเป็นเงินส่วนตัว) จะทำให้ภาพพจน์เสียได้ อาจถูกมองว่า นำเงินหลวงมาให้กู้กินดอก
- เจ้าหน้าที่การเงินเป็นผู้หนึ่งที่ช่วยสร้างและบำรุงขวัญของข้าราชการในหน่วยได้ เพราะทุกคนย่อมต้องการได้รับเงินโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน เงินตกเบิก เงินค่าเช่าบ้าน เงินค่ารักษาพยาบาล เงินค่าเล่าเรียนบุตร ฯลฯ ฉะนั้น พึงปฏิบัติงานเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ข้าราชการบางคนติดภารกิจสำคัญไม่สามารถไปเซ็นรับเงินด้วยตนเองได้ อาจขอให้ผู้อื่นมาเซ็นรับแทน เรื่องนี้ถ้าพออนุโลมได้น่าจะให้รับแทนได้ ไม่ทำตัวเป็นไม้บรรทัดเหล็กตรงเป๊ะ
- ไม่ทำงานป้องกันตนเองจนเกินไป โดยไม่คำนึงถึงภารกิจของหน่วยหรือความเดือนร้อนของข้าราชการในหน่วย
- ไม่ห่วงเรื่องส่วนตัวมากกว่างานในหน้าที่ เช่น ลาหยุด ๓ วัน เพื่อดูหนังสือเตรียมสอบวิชาที่กำลังเรียนนอกเวลาราชการ ทำให้งานในส่วนที่รับผิดชอบอยู่ต้องชะงักล่าช้าไป ๓ วัน หรือบางครั้งเกินกำหนดส่งประจำงวดหรือประจำเดือน กลายเป็นล่าช้าไปอีก ๑ งวด หรือ ๑ เดือน
- ไม่สะสมเรื่องไว้ทำพร้อมกันครั้งเดียวหลายเรื่อง ทั้งที่เรื่องนั้นสามารถแยกทำทีละรายได้ ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ยื่นเรื่อง ก่อน - หลัง
- ไม่เลือกปฏิบัติกับคนที่คุ้นเคยกันโดยทำเรื่องให้เร็วหรือทำเรื่องให้ก่อน และไม่ดึงเรื่องของคนที่ไม่ชอบกันให้ช้า ควรแยกความรู้สึกส่วนตัวกับบุคคลต่าง ๆ ออกจากความรับผิดชอบงานในหน้าที่

บทที่ ๕
นโยบาย คำสั่ง ระเบียบ บันทึกสั่งการ และเรื่องที่ควรทราบ

ในการปฏิบัติราชการในกองบัญชาการทหารสูงสุด มีเอกสารสำคัญซึ่งผู้เขียนมักจะหามาศึกษาหรืออ่านผ่านตาและจำไว้ว่าจะหายืมได้จากที่ใด บางเรื่องก็ถ่ายเอกสารเก็บไว้กับตัว เอกสารที่เป็นหนังสือบางเล่มที่ใช้อ้างอิงบ่อยก็จัดหาให้มีไว้ใกล้ตัว ดังนี้
เรื่องเกี่ยวกับนโยบายและการมอบอำนาจ
๑. คำแถลงนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันต่อรัฐสภา
๒. นโยบาย รมว.กห.
๓. คำสั่ง กห. มอบอำนาจให้ ปล.กห. ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.เหล่าทัพ
๔. นโยบาย การปฏิบัติงาน บก.ทหารสูงสุด
๕. แนวทางการปฏิบัติงาน บก.ทหารสูงสุด
๖. คำสั่ง บก.ทหารสูงสุด มอบอำนาจให้ รอง ผบ.ทหารสูงสุด เสธ.ทหาร รอง เสธ.ทหาร และ หน.ส่วนราชการ
๗. คำสั่ง บก.ทหารสูงสุด มอบหมายความรับผิดชอบให้ รอง ผบ.ทหารสูงสุด และ รอง เสธ.ทหาร
๘. คำสั่ง หน.ส่วนราชการ มอบอำนาจให้ รอง หน.หน่วย และ ผช.หน.หน่วย
เรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติงานเอกสาร
๑. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ ฉบับปัจจุบัน
๒. ระเบียบ บก.ทหารสูงสุด ว่าด้วยหนังสือราชการ ฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีรายละเอียดที่ควรทราบและปฏิบัติให้ถูกต้อง ดังนี้
๒.๑ การเขียนอ้างถึงและสิ่งที่ส่งมาด้วย
๒.๒ การเขียนผนวกประกอบคำสั่ง
๒.๓ การต่อเลขที่หนังสือ
๒.๔ การเขียนเลขหัวข้อ
๒.๕ การทำสำเนาคู่ฉบับ
๓. รูปแบบการเขียนข้อพิจารณาของฝ่ายอำนวยการที่ใช้ใน บก.ทหารสูงสุด (หนังสือ
ยก.ทหาร ด่วนมาก ที่ กห ๐๓๐๔/๑๒๒๒ ลง ๒๔ ต.ค. ๓๙
๔. การมีหนังสือเรียน รมว.กห. ให้ใช้กระดาษตราครุฑ (หนังสือ กพ.ทหาร ด่วนมาก ที่ กห ๐๓๐๒/๒๒๐๑ ลง ๑๓ ต.ค. ๔๐)
๕. การปฏิบัติต่อหนังสือราชการของ กห. เรื่องทั่วไปใช้ “เสนอ สป.” ไม่ใช่เรื่องทั่วไปใช้ “เรียน รมว.กห.” (หนังสือ กพ.ทหาร ที่ ต่อ กพ.ทหาร เลขรับ ๖๗๗๑/๔๒ ลง ๒๐ ก.ค. ๔๒)
๖. การเรียกชื่อหนังสือ (หนังสือ สบ.ทหาร ที่ กห ๐๓๐๘/๑๘๒๐ ลง ๒๕ ต.ค. ๓๗)
๗. การเชิญผู้แทนเข้าร่วมประชุม ให้กำหนดระดับผู้เข้าร่วมประชุมให้ชัดเจน (หนังสือ กกฝ.ยก.ทหาร ด่วนมาก ที่ กห ๐๓๐๔.๗/๑๖๘ ลง ๒๕ ก.ค. ๔๐)
๘. การจัดลำดับตำแหน่งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ประจำการชั้นยศ พล.อ., พล.ร.อ., พล.อ.อ. ของ กห. เข้าร่วมพิธีต่าง ๆ โดยยึดถือตำแหน่งตามลำดับการจัดส่วนราชการ กห. เป็นหลัก (หนังสือ สม. ที่ กห ๐๒๐๑/๑๖๗ ลง ๑๙ ม.ค. ๔๔)
๙. การกำหนดกลุ่มหน่วยให้อยู่ในความรับผิดชอบทางฝ่ายเสนาธิการของ กรม สธร.บก.ทหารสูงสุด (หนังสือ ยก.ทหาร ลับ ที่ กห ๐๓๐๔/๓๙๘ ลง ๒ ก.ค. ๔๑)
๙.๑ กลุ่มที่ ๑ กพ.ทหาร : รับผิดชอบทางฝ่ายเสนาธิการต่อ สจร.ทหาร สนพ.ทหาร และ สบ.ทหาร
๙.๒ กลุ่มที่ ๒ ขว.ทหาร : รับผิดชอบทางฝ่ายเสนาธิการต่อ ศรภ. และ ผท.ทหาร
๙.๓ กลุ่มที่ ๓ ยก.ทหาร : รับผิดชอบทางฝ่ายเสนาธิการต่อ ศวพท. สปท. และ ยศ.ทหาร
๙.๔ กลุ่มที่ ๔ กบ.ทหาร : รับผิดชอบทางฝ่ายเสนาธิการต่อ กกส.ทหาร และ ยบ.ทหาร
๙.๕ กลุ่มที่ ๕ สส.ทหาร : รับผิดชอบทางฝ่ายเสนาธิการต่อ สท.ทหาร
๙.๖ กลุ่มที่ ๖ กร.ทหาร : รับผิดชอบทางฝ่ายเสนาธิการต่อ นทพ.
๙.๗ กลุ่มที่ ๗ สปช.ทหาร : รับผิดชอบทางฝ่ายเสนาธิการต่อ สตช.ทหาร และ กง.ทหาร
เรื่องเกี่ยวกับหน่วยงานที่ปฏิบัติงานอยู่
๑. อฉก. ของหน่วย ตั้งแต่ระดับ กรม ถึงระดับกอง
๒. หน้าที่ของกอง แผนก และหน้าที่ตามตำแหน่งต่าง ๆ ที่มีระบุไว้อย่างเป็นทางการ
๓. ปฏิทินการปฏิบัติงานในวงรอบปีงบประมาณของกอง
๔. บัญชีบรรจุกำลังพลภายในกอง
๕. หมายเลขโทรศัพท์ที่ทำงาน ที่บ้าน และมือถือ ของผู้บังคับบัญชาของหน่วย และของกำลังพลภายในกอง
๖. ระเบียบปฏิบัติประจำ (รปจ.) ของ กรม กอง
๗. ระเบียบของ กรม กอง เกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการที่เกี่ยวข้อง
หนังสือที่ควรมีไว้ใกล้ตัว
๑. คู่มือนายทหารสัญญาบัตร จัดทำโดย สบ.ทหาร พ.ศ. ๒๕๔๔
๒. หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ของราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๓๐
๓. อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ของราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๓๗
๔. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕
๕. หนังสือระเบียบปฏิบัติราชการ เล่ม ๑ - ๓ รวบรวมโดย สบ.ทหาร
๖. คู่มือฝ่ายเสนาธิการร่วม จัดทำโดย วสท.สปท. พ.ศ. ๒๕๔๒
๗. ระเบียบ บก.ทหารสูงสุด ว่าด้วยหนังสือราชการ พ.ศ. ๒๕๔๔
สรุป

- จะทำทุกอย่างได้ดีต้องมีใจรักที่จะทำหน้าที่นั้น ตำแหน่งนั้น มีจุดมุ่งหมายของชีวิต
- งานหลักของฝ่ายอำนวยการได้แก่ การคิด การเขียน และการพูด
- จะทำได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับกิจแฝง ๓ ประการ คือ การอ่าน การฟัง และการสรุป
- การคิดเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด
- ฝึกคิดจากเรื่องส่วนตัวในชีวิตประจำวัน มองกว้าง ๆ เปรียบเทียบข้อดี - ข้อเสีย วาดภาพ ล่วงหน้าแม้เรื่องเล็กน้อย
- ยึดถือหลักฐาน ไม่ยึดถือความเห็นส่วนตัว
- เคารพ เชื่อฟังในการตัดสินใจของ ผบช. ตามลำดับชั้น แล้วเปลี่ยนความรู้สึกทำตามนั้น
- ให้เกียรติทุกคน ทุกหน่วย ไม่บีบฝ่ายอำนวยการของหน่วยรอง ไม่บีบผู้อาวุโสต่ำกว่า
- ใช้การประสานให้มาก ก่อนทำเป็นหนังสือ
- นอกจากยึดถือ “หลักการ” และใช้ “ประสบการณ์” แล้ว ฝ่ายอำนวยการที่ดีควรมี “จริยธรรม” และ “ศีลธรรม”
- จริยธรรมต้องเริ่มที่ “จิตใจ”
- พื้นฐานของจริยธรรม คือ “ศีล” ผู้รักษาศีลด้วยความตั้งใจจริง จะเป็นผู้มีวินัยในตัวเองทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้อื่น และจะก่อให้เกิดจริยธรรมโดยอัตโนมัติ
- การพัฒนาจริยธรรมให้งอกงามในตน ทำได้หลายวิธี คือ
๑. ตั้งใจรักษาศีล ๕ อย่างเคร่งครัด เพิ่มเติมด้วยกรรมบท ๑๐
๒. เรียนรู้และปฏิบัติตนตามรอยพระยุคลบาท
๓. สำนึกความหมายของคำว่า “ข้าราชการ” อยู่เสมอ และพยายามปฏิบัติตนเป็น
ข้าราชการที่ดี
๔. ตั้งใจไว้ว่าจะไม่ คิด พูด ทำ ในสิ่งผิดกฎหมาย และวินัยทหาร
๕. ใช้การขับรถเป็นโอกาสในการพัฒนาจริยธรรมได้ทุกวัน อย่าปล่อยใจไปตามสังคม

ภาคผนวก
เทคนิคและเครื่องหมายในการแก้ร่างหนังสือ


๑. แก้คำ - ใช้วิธีขีดฆ่าคำเดิมแล้วเขียนคำใหม่ โดยเขียนข้างบนหรือข้างล่างคำเดิม หรือลากเส้นออกไปเขียนใหม่ข้างนอก ซึ่งเป็นที่ว่างทางซ้ายหรือขวาของร่างหนังสือ
๒. ตกเติม - ใช้วิธีตกเติมข้อความไว้ข้างล่างหรือข้างบนของข้อความเดิม และทำลูกศรชี้ว่าเติมตรงไหน หรือลากเส้นลงมาเขียนข้อความที่ตกเติมไว้ข้างล่าง หรือลากเส้นขึ้นไปเขียนข้อความที่ตกเติมไว้ข้างบน หรือลากเส้นออกไปเขียนข้อความที่ตกเติมไว้ข้าง ๆ ทางซ้ายมือหรือขวามือของร่างหนังสือ
๓. ตัดออก - ใช้วิธีขีดฆ่าคำเดิมออก
๔. ย้ายที่ - ใช้วิธีเขียนวงรอบข้อความที่จะให้ย้ายที่ แล้วโยงเส้นทำลูกศรชี้ตรงที่จะให้ข้อความนั้นย้ายไปอยู่
๕. ย้ายบรรทัด - ใช้วิธีเขียนกรอบล้อมข้อความที่จะให้ย้ายไปนั้นในลักษณะเกือกม้าตะแคงที่ข้อความส่วนท้ายบรรทัดกรณีต้องการย้ายลงมาไว้บรรทัดล่าง หรือที่ข้อความส่วนต้นบรรทัดกรณี ต้องการย้ายขึ้นมาไว้บรรทัดบน
๖. ขึ้นหน้าใหม่ - ใช้วิธีเขียนกรอบล้อมบรรทัดที่จะให้ยกไปขึ้นหน้าใหม่ในลักษณะเกือกม้าคว่ำในกรณีต้องการให้ยกบรรทัดนั้นไปหน้าถัดไป และเกือกม้าหงายในกรณีต้องการให้ยกบรรทัดนั้นไปหน้าก่อน
๗. ให้ข้อความติดกัน - ใช้วิธีทำวงเล็บคว่ำและหงายโยงระหว่างข้อความทั้งสองนั้น
๘. ให้ย่อหน้า - ใช้วิธีเขียนตัว P ตัวใหญ่ (ตัวอักษรพี ภาษาอังกฤษ ซึ่งย่อมาจากคำว่า Paragraph) ข้างหน้าข้อความนั้น
๙. ให้เว้นวรรค - ใช้วิธีเขียนเส้นคั่นระหว่างข้อความที่จะให้เว้นวรรคนั้น โดยเขียนเฉพาะส่วน
บนและส่วนล่าง เว้นส่วนกลาง เพื่อไม่ให้ทับตัวอักษรที่ว่างไว้
๑๐. ให้ข้อความต่อกัน - หากต้องการให้ข้อความที่ย่อหน้ารวมเป็นข้อความเดียวกับบรรทัดบน ใช้วิธีเขียนเส้นโยงระหว่างข้อความสุดท้ายของบรรทัดบนกับข้อความแรกของย่อหน้า
๑๑. ให้เลื่อนตำแหน่ง - หากต้องการย้ายตำแหน่งของคำ ประโยค หรือเลขหัวข้อไปทางซ้ายหรือขวาบนหรือล่าง ใช้วิธีขีดเส้นตั้งหรือเส้นนอนที่ตำแหน่งที่ต้องการแล้วเขียนลูกศรจากตัวอักษรตัวแรกของคำ ประโยค หรือเลขหัวข้อนั้นไปยังเส้นนั้น
๑๒. ให้แก้ไขระยะห่าง - ใช้วิธีเขียนเครื่องหมายเกือกม้าตะแคงที่ต้นบรรทัดระหว่างบรรทัดที่ต้องการระหว่างบรรทัด แก้ไขระยะบรรทัด พร้อมด้วยเขียนตัวเลขระยะบรรทัดใหม่กำกับไว้
๑๓. ให้ขีดเส้นใต้หรือทำตัวเข้ม - หากต้องการขีดเส้นใต้คำหรือข้อความ หรือต้องการทำให้คำหรือข้อความนั้นเป็นตัวเข้ม ใช้วิธีเขียนวงล้อมคำหรือข้อความนั้น แล้วเขียนตัว B หรือ U กำกับไว้
๑๔. ให้เปลี่ยนแบบหรือขนาดตัวอักษร
- ใช้วิธีเขียนวงล้อมคำหรือข้อความนั้น แล้วเขียนแบบและขนาดตัวอักษรที่ต้องการไว้


ตัวอย่างการแก้ร่างหนังสือ
ร่างเดิม

บันทึกข้อความ
ส่วนราชการ สปท.บก.ทหารสูงสุด (ศบส.บก.สปท. โทร.ทหาร ๕๗–๒๑๐๔๖ โทร.๒๗๕–๕๙๙๒)
ที่ กห ๐๓๑๘ วันที่ ก.ค. ๔๓
เรื่อง ขอรับการสนับสนุนบุคลากรและห้องบันทึกเสียงพร้อมเจ้าหน้าที่
เรียน จก.กร.ทหาร
๑. เนื่องจาก สปท.บก.ทหารสูงสุด ได้จัดทำสไลด์มัลติวิชั่น เรื่อง ภารกิจ-การจัด สปท. ขึ้น เพื่อเป็นบทบรรยายสรุป ในการต้อนรับผู้บังคับบัญชาและอาคันตุกะ ทั้งจากในและต่างประเทศ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ และมีการปรับเปลี่ยนภาพและข้อมูลเรื่อยมา จนในขณะนี้มีการปรับโครงสร้าง สปท. จึงจำเป็นที่จะต้องการปรับเปลี่ยนบทบรรยายภารกิจประกอบสไลด์ ให้ตรงกับโครงสร้างและภารกิจ สปท. ที่เปลี่ยนแปลงไป
๒. ในการดำเนินการตามข้อ ๑ สปท. ขาดแคลนทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ต่าง ๆ และทราบว่ากร.ทหาร สามารถให้การสนับสนุนได้ สปท. จึงขอรับการสนับสนุนจาก กร.ทหาร ในการดำเนินการ ดังนี้
๒.๑ ขอรับการสนับสนุนบุคลากรสำหรับการอ่านบทบรรยายภาษาไทย
๒.๒ ขอใช้ห้องบันทึกเสียงพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ จะได้ให้……………………….มาเป็นผู้ประสานในรายละเอียดโดยตรงอีกครั้งหนึ่ง
จึงเรียนมาเพื่อกรุณาพิจารณาให้การสนับสนุน และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้


พล.ท.
(………………………)
รอง ผบ.สปท. ทำการแทน
ผบ.สปท.



คำวิจารณ์ของผู้เขียน
ถึงแม้เจ้าหน้าที่ของ สปท. จะได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ของ กร.ทหาร ไว้แล้ว และเจ้าหน้าที่ของ กร.ทหาร รับว่าสามารถให้การสนับสนุนได้ก็ตาม การร่างหนังสือเพื่อให้ ผบ.สปท. ลงนามถึง จก.กร.ทหาร ฉบับนี้ค่อนข้างห้วนไปสักหน่อย ผู้รับหนังสืออ่านแล้วอาจรู้สึกเฉย ๆ และนำเรียนขออนุมัติผู้บังคับบัญชาไปตามปกติ
หากเพิ่มเติมข้อความที่เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของ กร.ทหาร ว่าจะช่วยให้ภารกิจของ สปท.สำเร็จได้อย่างไร ก็จะทำให้ผู้รับหนังสือรวมทั้งผู้บังคับบัญชาเกิดความรู้สึกภูมิใจที่ สปท. เห็นความสำคัญของ กร.ทหาร และพร้อมจะให้การสนับสนุนด้วยความเต็มใจและรวดเร็วเป็นพิเศษ กับทั้งบุคลากรที่จะขอให้ช่วยอ่านบทบรรยายก็จะเกิดความรู้สึกที่ดี และตั้งใจจะช่วยงานอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน ส่วนเหตุผลและความจำเป็นในข้อ ๑ อาจเรียบเรียงถ้อยคำเสียใหม่ให้กระชับเป็นลำดับขั้นตอนยิ่งขึ้นตามร่างที่ปรับแก้แล้วในหน้าถัดไป
ข้อมูลจาก พันเอก เอนก แสงสุก